ช่วงปีแห่งการจัดทำไมโครไซต์ (microsite) ด้วยเทคโนโลยีจาก Macromedia Flash เป็นยุคก่อนเว็บไซต์ที่ปรับการแสดงผลอัตโนมัติ (responsive website) และโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟน คราฟส์แมนชิพร่วมกับ Brilliant Million จัดทำบอร์ดเกมเชิญชวนลูกค้าธนาคารไทยพาณิชย์เข้ามาใช้วิดเจ็ด (widget) เพื่อทำธุรกรรมออนไลน์ จึงเกิดแนวคิดในการทำบอร์ดเกมและมินิเกมที่มีหน้าตาคล้ายคลึงกับวิดเจ็ดดังกล่าว เพื่อให้เห็นถึงฟีเชอร์ของผลิตภัณฑ์ อาทิ การโอนเงิน การตรวจสอบยอดเงินคงเหลือในบัญชี ผ่านการผจญภัยของมาสคอตของธนาคารเพื่อเดินทางจากจุดเริ่มต้น มุ่งหน้าสู่สำนักงานใหญ่ของธนาคารไทยพาณิชย์
ในการผจญภัยครั้งนี้ หากผู้เล่นเดินทางสู่สำนักงานใหญ่ได้ภายในเวลาที่น้อยที่สุด จะได้รับสิทธิลุ้นรับรางวัลจากทางธนาคารต่อไป
ย้อนกลับไปในปี 2011 คราฟส์แมนชิพได้มีโอกาสเป็นส่วนหนึ่งในนิทรรศการเมืองจมน้ำ (Let’s Panic!) ซึ่งจัดโดยหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร (BACC) ร่วมกับเครือข่าย Design for Disasters เพื่อสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในปัจจุบันและความเป็นไปได้ในอนาคต ผ่านผลงานของศิลปินและนักออกแบบ 15 ท่าน
นิทรรศการฯ แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก คือ การแสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ การอยู่ร่วมกับภัยพิบัติฯ และการป้องกันและรับมือกับสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้น
คราฟส์แมนชิพมีส่วนร่วมจัดแสดงผลงานศิลปะปฏิสัมพันธ์ (interactive installation) จำลองสถานการณ์ของภัยพิบัติทางธรรมชาติที่รุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ จากช่วงเวลาหนึ่งสู่อีกช่วงเวลา ให้ผู้เข้าชมได้มีปฏิสัมพันธ์ภายในโถงนิทรรศการผ่านอาร์ตเวิร์กจำลองสถานการณ์ที่อาจเกิดขึ้นในกรุงเทพฯ
อาร์ตเวิร์กจะปรากฏขึ้นเมื่อผู้เข้าชมเลื่อนจอไปตามหมุดที่วางไว้ในแต่ละช่วงบนเส้นเวลา ซีรีส์ของอาร์ตเวิร์กนี้เรียงลำดับเหตุการณ์ของวันธรรมดาในกรุงเทพมหานครที่คับคั่งไปด้วยผู้คน และชีวิตที่เร่งรีบตั้งแต่ช่วงเวลาเลิกงาน จนทุกอย่างสงบลงในเช้ามืดของอีกวันหนึ่ง เหลือไว้เพียงซากของความเสียหายที่เกิดขึ้น
คราฟส์แมนชิพได้มีโอกาสแสดงผลงานอีกครั้ง ในพื้นที่โถงทางเดินของหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับศิลปินต่างสาขา ภายใต้นิทรรศการชื่อ ดีที่เดิน (Good to Walk) โดยมีวัตถุประสงค์ให้ผู้ชมได้ใช้เวลาเดินชมภายในอาคารแทนการใช้ลิฟต์โดยสาร
คราฟส์แมนชิพจัดทำซอฟต์แวร์ด้วยแนวคิด “จากภายในสู่ภายนอก” ให้ที่คนออกมาใช้พื้นที่สาธารณะดึงความเป็นตัวเองออกมาผ่านตัวละครสามมิติที่แสดงท่าทางตามผู้ที่มีปฏิสัมพันธ์ด้วย โดยตัวละครเหล่านี้จะแสดงท่าทางล้อเลียนเมื่อมีผู้เดินผ่านหรือหยุดดู
ในช่วงท้ายของการเปิดให้บริการ Flash Player คราฟส์แมนชิพได้มีโอกาสทำแผ่นพับดิจิทัล (digital brochure) ให้กับฮอนด้า ประเทศไทย โดยมีฟีเชอร์ให้ผู้ใช้งานสามารถเลือกดูรถในแต่ละรุ่น เปลี่ยนสี และดูคุณสมบัติของรถได้ผ่านอุปกรณ์ระบบสัมผัส แอปพลิเคชันนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานที่จัดแสดงในพื้นที่สาธารณะ เพื่อช่วยสร้างประสบการณ์ในอีกรูปแบบให้กับผู้ที่เข้ามาร่วมชมงาน
ปี 2013 เป็นช่วงเวลาที่มีการจัดงานอิเวนต์มาอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับเทร็นด์สื่อการฉายภาพดิจิทัล (digital mapping) ลงไปบนพื้นผิวต่าง ๆ คราฟส์แมนชิพร่วมกับ SAAB ประเทศสวีเด็น และ AVIA SATCOM ประเทศไทย จัดทำการสาธิตผลิตภัณฑ์ภายในงาน Defense & Security 2013 ด้วยวิธีการฉายภาพในห้องและพื้นผิวต่าง ๆ (projection mapping) เพื่อจำลองสถานการณ์ภายในห้องบัญชาการ (war room) ผ่านการเล่าเรื่องด้วยแอนิเมชัน 3 มิติและวิดีโอ
ในช่วงกระแสของเมกเกอร์ (maker) และอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (internet of things) คราฟส์แมนชิพร่วมกับพิงค์ บลู แบล็ค แอนด์ ออเร้นจ์และศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ ประเทศไทย (TCDC) เพื่อจัดทำบูธ Photo Connect ภายในงาน Creativities Unfold 2015 เราผลิตซอฟต์แวร์ที่สามารถพิมพ์รูปผ่านเครื่องพิมพ์ความร้อน โดยดึงข้อมูลผู้ร่วมงานจากฐานข้อมูลผู้ซื้อบัตรเข้าชม เมื่อถ่ายรูปเสร็จแล้ว ระบบจะทำการแชร์รูปในพื้นที่แสดงงานและอัลบั้มบน Facebook สำหรับผู้ที่ติดตามเพจผ่านช่องทางออนไลน์
ในปี 2017 คราฟส์แมนชิพมีโอกาสท้ายทายสองสิ่งใหม่ในเวลาเดียวกัน ผ่านการร่วมงานกับดิจิทัลเอเจนซี Showroom 111 เพื่อพัฒนาแอปพลิเคชันในสื่อสังคมออนไลน์ (social media) อย่าง Facebook เป็นยุคที่มีแอปพลิเคชันและเกมต่าง ๆ อยู่ภายในแพลตฟอร์ม โจทย์ที่ท้าทายของเรา คือ การทำให้ Facebook ของแบรนด์น้ำยาปรับผ้านุ่ม ALL สามารถเคลื่อนไหวได้ และกลายเป็นมิวสิกวิดีโอในที่สุด
First 3D-rigged animation (2017)—ความท้าทายที่หนึ่ง คือ การทำให้มาสคอตที่มีลักษณะเป็นฟองนุ่มสามารถขยับและเต้นในท่าทางที่ต้องการ
First large video streaming (2017)—ความท้าทายต่อมา คือ การทำให้คนดูเชื่อว่า Facebook หน้าตาธรรมดานี้มีภาพโปรไฟล์ที่สามารถเคลื่อนไหวได้ รวมไปถึงเอฟเฟ็กต์ต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้น เช่น ดอกไม้ที่ปลิวออกมา จนถึงการระเบิดตัวของโครงสร้าง (layout) จนกลายเป็นพื้นที่สำหรับการเต้นแบบเบรกซีน (break scene) ของเพลงเกาหลี
ด้วยโจทย์ที่ได้รับมานี้ ทีมต้องคิดหาทางทำให้การสตรีมนี้มีความเร็วสูงที่สุด ในยุคที่อินเทอร์เน็ตไม่ได้มีความเร็วหรือรองรับการสตรีมวิดีโอได้เหมือนทุกวันนี้ โดยแนวทางที่เลือกนำมาใช้ คือ การฝากไฟล์วีดีโอที่มีขนาดใหญ่ถึง 4K ไว้บน Youtube และนำไฟล์นั้นเข้ามาสตรีมอีกครั้งผ่าน Flash Player ด้วยการพรีโหลด แคช (preload cache) ล่วงหน้า
สิ่งเหล่านี้อาจไม่ได้เป็นสิ่งใหม่สำหรับเทคโนโลยีในปัจจุบัน แต่หากย้อนกลับไปเมื่อปี 2017 การตอบโจทย์ความคิดสร้างสรรค์ด้วยการค้นหาแนวทางที่เกิดขึ้นได้จริง เป็นความท้าทายที่พวกเราภาคภูมิใจ และเป็นการเปิดโอกาสทดลองทำสิ่งใหม่ให้เกิดขึ้นด้วย
คราฟส์แมนชิพมีโอกาสจัดทำแพลตฟอร์มสำหรับการส่งการ์ดอิเล็กทรอนิกส์ (e-card) ให้กับผู้ร่วมงาน โดยจัดทำขึ้นโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (Tourism Authority Thailand) การ์ดเหล่านี้จะถูกจัดส่งถึงมือผู้รับผ่านทางอีเมล นับเป็นแพลตฟอร์มแรกที่คราฟส์แมนชิพได้มีโอกาสจัดทำขึ้น
ช่วงปี 2014–2019 คราฟส์แมนชิพมีโอกาสจัดทำบูทให้กับบริษัท ซีลิค คอร์พ จำกัด (มหาชน) บริษัทเคมีสัญชาติไทยที่ทางคราฟส์แมนชิพมีส่วนร่วมดูแลภาพลักษณ์ในด้านต่าง ๆ รวมถึงการจัดแสดงในงาน ProPak Asia 2018 ถือเป็นปีที่ยกระดับงานออกแบบโครงสร้างให้มีความสอดคล้องกับผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯ โดยการนำโครงสร้างกระดาษลูกฟูกมาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบ ด้วยการใช้เทคนิคการผลิตแบบดิจิทัล (digital fabrication) ที่สร้างจากคอมพิวเตอร์ นำมาสู่ฟาซาด (facade) ขนาดใหญ่ในพื้นที่จัดงาน
คราฟส์แมนชิพร่วมมือกับแสนสิริในการพัฒนาซอฟต์แวร์ ช่วยให้ผู้ใช้เข้าใจการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น แสนสิริได้นำเทคโนโลยีและการประมวลผลเชิงข้อมูลมาใช้ในการสอบถามผู้เข้าชมโครงการเอ็กซ์ที จากแสนสิริ (XT by Sansiri) ผ่านกิจกรรมที่เกิดขึ้นภายในสำนักงานขาย หลังการทำแบบสอบถาม ผู้เข้าร่วมกิจกรรมจะได้รับโปสต์การ์ดที่ระลึกจากการสร้างสรรค์ของนักวาดภาพประกอบ จากนั้นข้อมูลจะถูกไปประมวลผลโดยแสนสิริ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ตอบโจทย์ผู้ใช้งานต่อไป
ในปี 2020 คราฟส์แมนชิพได้มีโอกาสร่วมกับ Practical Design Studio เพื่อจัดทำเว็บไซต์ให้กับสมบูรณ์โภชนา ร้านอาหารเก่าแก่ที่เป็นจุดหมายของนักชิมและบุคคลที่มีชื่อเสียงมากมายจากทั่วโลก การทำเว็บไซต์ครั้งนี้รวมใปถึงแนวคิดและระบบการจองโต๊ะอาหารผ่านทางหน้าเว็บไซต์อีกด้วย โดยระบบดังกล่าวนี้จะจัดการคำนวณที่นั่งว่างเพื่อดำเนินการจอง หรือแจ้งสาขาที่ใกล้เคียงหากเวลาที่ลูกค้าต้องการมีท่านอื่นจองไว้แล้ว
จากจุดเริ่มต้นของคราฟส์แมนชิพกับการจัดทำไมโครไซต์ในรูปแบบดั้งเดิม สู่ยุคใหม่ของการจัดทำไมโครไซต์ในรูปแบบเรซสปอนต์ซีฟร่วมกับ WINDSHELL naradhiwas โครงการอสังหาริมทรัพย์แบบห้องเปล่า (bareshell) ที่มีแนวคิดการทำบ้านในแนวตั้งผ่านการออกแบบโครงการที่เน้นงานระบบและทางเดินของอากาศ เป็นที่มาของไมโครไซต์ที่มีแนวคิดเรียบง่าย ประกอบไปด้วย 2 หัวข้อหลักคือ แนวคิด (word) และ ภาพ (image) ให้ผู้เข้าชมได้ “อ่าน” แนวคิดในการออกแบบ และ “ดู” รูปภาพขั้นตอนต่าง ๆ ในการพัฒนาก่อสร้างโครงการนี้
“เมื่อพูดถึงบ้าน ก็ไม่จำเป็นต้องมีโลโก้” เป็นส่วนหนึ่งจากแนวคิดของทีมนักพัฒนา สถาปนิก และผู้ออกแบบอัตลักษณ์ของโครงการ เมื่อโครงการนี้สร้างเสร็จ โลโก้ที่เคยจำเป็นก็จะหายไป เป็นการเปลี่ยนสถานะจากโครงการเป็นบ้านอย่างสมบูรณ์แบบ สอดคล้องการออกแบบส่วนต่อประสานงานผู้ใช้ (user interface) ให้มีความเกี่ยวข้องกับบ้านที่เรียบง่าย ตามแนวคิดที่ว่า “หากคิดอะไรไม่ออก ให้กลับบ้าน” ดังนั้นตำแหน่งของโลโก้ตัวอักษร (wordmark) จึงเป็นจุดสำคัญในนำการกลับไปสู่จุดเริ่มต้น เปรียบเสมือนการตั้งหลักก่อนที่จะเริ่มลงมือทำสิ่งใหม่ต่อไป
ไมโครไซต์นี้ถูกจัดทำขึ้นให้รองรับการแสดงผลในทุกอุปกรณ์ เนื่องจากเป็นสื่อหลักเพียงสื่อเดียวที่ทางโครงการจัดทำขึ้นให้ผู้ที่สนใจเข้ามาศึกษารายละเอียด