Rethinking WordPress for Business
WordPress ไม่ได้แย่ แต่การใช้มันในแบบเดิม ๆ กับโจทย์ที่ซับซ้อนขึ้น อาจทำให้แบรนด์ต้องรับความเสี่ยงที่มองไม่เห็น บทความนี้ชวนคิดใหม่ว่า “เว็บไซต์” ควรเป็นระบบสนับสนุนแบรนด์ ไม่ใช่ภาระที่ไม่มีใครดูแล

จากแพลตฟอร์มเขียนบล็อก สู่จุดเปลี่ยนของเว็บไซต์ธุรกิจ — และเหตุผลที่เราไม่ได้ใช้มันเป็น default อีกต่อไป
จุดเริ่มต้นของความง่าย
ช่วงกลางยุค 2000s การมีเว็บไซต์สำหรับใครบางคนไม่ใช่เรื่องของการขายของหรือการขยายธุรกิจแต่มากกว่านั้น มันคือ “การมีพื้นที่เล่าเรื่องของตัวเอง” บนอินเทอร์เน็ต ในยุคนั้น การเขียนบล็อก (blogging) ไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่คือวัฒนธรรม WordPress จึงถือกำเนิดขึ้นบนแนวคิดที่เรียบง่าย ให้ทุกคนเล่าเรื่องของตัวเองได้ โดยไม่ต้องเขียนโค้ด
ด้วยความที่ WordPress สร้างบน PHP ซึ่งใช้ง่ายกว่า CGI หรือ Perl ติดตั้งได้ด้วยไม่กี่คลิกและเริ่มต้นใช้งานได้ฟรี WordPress จึงกลายเป็นประตูที่ทำให้คนธรรมดาสามารถมี “เว็บไซต์” เป็นของตัวเองได้

จากเนื้อหาส่วนตัว สู่ระบบของธุรกิจ
เวลาเปลี่ยน ความคาดหวังของผู้ใช้ก็เปลี่ยน จากพื้นที่เล่าเรื่องกลายเป็นหน้าร้าน จากบล็อกทั่วไปกลายเป็นเว็บไซต์ของบริษัท WordPress ค่อย ๆ เติบโตจากระบบเขียนบล็อก มาเป็น “CMS” (Content Management System) ที่รองรับการทำเว็บเพจ ปรับโครงสร้างเมนู ใส่ Plug-in เชื่อมต่ออีคอมเมิร์ซ และแม้แต่จองคิว แต่ในขณะที่ฟีเจอร์เพิ่มขึ้น ผู้ใช้จำนวนไม่น้อยยังคงมองมันเป็น “ของฟรี ใช้ง่าย” แบบเดิม และที่สำคัญกว่านั้น — มันถูกใช้แบบเดิม แม้บริบทจะเปลี่ยนไปมาก
ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ WordPress แต่อยู่ที่การใช้มัน “แบบเดิม” ในโจทย์ที่ซับซ้อนขึ้น
ในฐานะทีมที่ออกแบบและวางระบบเว็บไซต์ให้แบรนด์ เราเริ่มเห็นจุดอ่อนที่สะสมมากับความสำเร็จของ WordPress
- การใช้ธีมสำเร็จรูปที่มีโค้ดแฝง
- การติดตั้งปลั๊กอินมากเกินไปจนเว็บช้า
- การอัปเดตระบบที่กระทบหน้าเว็บโดยไม่รู้ตัว
- และที่พบบ่อยที่สุด: ไม่มีใครดูแลระบบเลยหลังส่งมอบ
หลายเว็บไซต์ถูกสร้างขึ้น “เสร็จ” ตั้งแต่วันแรก โดยไม่มีใครคิดต่อว่าอีก 1 ปีข้างหน้า แบรนด์จะเติบโตอย่างไร มีใครดูแลไหม? มีระบบสำรองข้อมูลไหม? เว็บรองรับทราฟฟิกเพิ่มได้หรือเปล่า?
เราไม่ได้เลิกใช้ WordPress — แต่เราจะไม่เริ่มจากมัน
ที่ Craftsmanship เราสามารถพัฒนาเว็บไซต์ด้วย WordPress ได้ในขณะที่ลูกค้าที่เรามีโอกาสได้พูดคุยด้วยเลือกที่จะ “เลี่ยงการใช้ WordPress” เนื่องจากปัญหาสุดคลาสสิกว่า “WordPress มีไวรัส”
WordPress กลายเป็นผู้ร้าย ในขณะที่นักพัฒนาหลายคนก็มีความคิดว่า WordPress ไม่ได้เป็นปัญหา ปัญหามาจากความไม่เข้าใจของนักพัฒนาที่ไม่เข้าใจระบบ และเริ่มรับงานกับลูกค้าด้วยความไม่เข้าใจในโค้ด คิดว่าการติดตั้ง Plug-in เป็นกุญแจในการ “สร้างเว็บทุกประเภท” ไม่ว่าระบบจะเล็กหรือใหญ่ หรือเงื่อนไขที่มีความซับซ้อน โดยที่ไม่คำนึงถึงปัญหาที่ตามมา
ลูกค้ากลายเป็นผู้ที่ต้องรับภาระในการแก้ไข ปัญหาที่ทับถมมาหลายปีจนเว็บไซต์กลายเป็นสิ่งที่ไม่น่าทำมากที่สุด ซึ่งส่วนทางกับความเป็นจริงว่า “เว็บไซต์ควรเป็นสิ่งที่แบรนด์ต้องพิจารณาให้เป็น ‘โครงสร้างพื้นฐาน’ มากกว่าการใช้ Social Media เพียงอย่างเดียว”
เว็บไซต์ เปรียบเสมือนหน้าร้าน อาคารสำนักงานของแบรนด์ ที่มีขนาดใหญ่ได้ไม่จำกัด เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ตั้งจริง ๆ แล้ว เว็บไซต์คุณมีประสิทธิภาพมากกว่าที่คุณคิด ในขณะที่ Social Media เป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนรวมตัวกัน คุณสามารถโฆษณาเพื่อเชิญชวนผู้คนเหล่านี้มาเป็นลูกค้าของคุณ แต่ที่เป็นอยู่มันกลับด้านกัน
ปัจจุบัน Development Stack หลักของการพัฒนาเว็บไซต์ของ Craftsmanship Co. มีหลากหลายวิธีการ เริ่มจาก No-code Platform อย่าง WordPress ไปจนถึงการใช้ NextJS ที่ทำงานร่วมกับ Content Management System ต่าง ๆ อาทิ Strapi หรือ Sanity หรือหากซับซ้อนกว่านั้นก็จะนำไปสู่การสร้าง CMS ขึ้นมาเพื่อการใช้งานเฉพาะทางมากยิ่งขึ้น



เลือกทีมนักพัฒนาที่ไว้ใจได้ แล้วเราจะรู้ได้อย่างไร?
การพูดคุยคงเป็นสิ่งที่สำคัญ ปัญหาคือการไม่รู้ว่าจะเริ่มอย่างไร เรามีคำแนะนำในการเริ่มต้นทำเว็บไซต์ง่าย
อย่าให้เวลาเป็นกับดัก การพัฒนาเว็บไซต์มีกระบวนการพื้นฐานดังนี้
- ด้านการออกแบบ นักออกแบบจะใช้เวลาในการพัฒนาเว็บไซต์ของคุณ ในระยะเวลาเฉลี่ย 1-4 สัปดาห์ (ประมาณการจากสถิติ และขนาดของโครงการ) อาจจะมากหรือน้อยกว่า ขึ้นอยู่กับการเจรจา
- เมื่อกระบวนการออกแบบเสร็จสิ้น คุณควรจะเห็นตัวอย่างด้านการออกแบบอย่างละเอียดตามขอบเขตของงาน เช่น เว็บไซต์มีการแสดงผลแบบ Responsive หรือไม่ ถ้ามี แสดงผลอย่างไร? มี Accessibility Features หรือไม่? หรือผู้ให้บริการนั้น ๆ มีอะไรมานำเสนอคุณบ้าง
- เมื่อกระบวนการออกแบบเสร็จสิ้น จะเข้าสู่กระบวนการพัฒนาเว็บไซต์ด้วยการเขียนโค้ด ผู้ให้บริการนั้นให้ความสำคัญกับ Front-end คือส่วนหน้ากากของเว็บไซต์หรือไม่? หรือระบบหลังบ้านใช้ระบบอะไร? ภาษาอะไร? (ซึ่งโดยมากมักจะเป็น WordPress)
- พูดถึง Back-end และ Content Management System (CMS) โดยเฉพาะ WordPress ผู้ให้บริการนั้นมีการติดตั้ง Plug-in อะไรบ้าง (เรื่องที่คุณควรจะรู้) แล้ว Plug-in นั้น ซื้อมาอย่างถูกต้อง หรือแชร์ใช้งานหรือไม่ ฟีเจอร์ทั้งหมดในเว็บไซต์ไม่จำเป็นต้องพึ่งพา Plug-in เสมอไป การมี Plug-in ที่ไม่ได้มาตรฐานนั้นมีความเสี่ยงกับเว็บไซต์ของคุณอย่างมาก
- ในด้าน Front-end หรือหน้าตาของเว็บไซต์ เลย์เอาต์ มาจาก ธีมที่ดาวน์โหลดมาหรือไม่? ในความเป็นจริงแล้วการใช้ Theme สำเร็จรูปไม่ได้เป็นปัญหา บางทีคุณอาจจะคิดว่า เลย์เอาต์ของธีม นั้นๆ สอดคล้องกับการนำเสนอเรื่องราวผ่านเว็บไซต์ของคุณ ควรตรวจสอบว่า Theme เหล่านั้นได้คุณภาพหรือไม่ เพราะบางที Theme ที่คุณใช้อาจจะเขียนโค้ดมาไม่ละเอียดพอ ทำให้การแสดงผลนั้นมีความผิดพลาด เช่นในด้านของ Responsive Design และ State Management ในด้านการสื่อสารแบรนด์รายละเอียดเหล่านี้จะสร้างความไม่น่าเชื่อถือให้กับลูกค้า
- จากประสบการณ์ในด้านการทำเว็บไซต์และเห็น Theme ผ่านตามาไม่น้อยของผู้เขียน พบว่า Theme ที่สมบูรณ์ค่อนข้างมีน้อย ส่วนใหญ่ต้องเอามาพัฒนาเพิ่มเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ หากคุณให้ความสำคัญกับรายละเอียด ก็จะทำให้ต้องยืดเวลาในส่วนนี้ออกไป
- หลังจากพัฒนาเว็บไซต์เสร็จสมบูรณ์ ผู้ให้บริการได้ให้คุณตรวจงานหรือไม่? ขั้นตอนนี้เรียกว่า User Acceptance Test หรือ UAT คุณควรจะใช้เวลาในการตรวจงานในทุกส่วนอย่างละเอียดว่ามี bug ในส่วนไหนหรือไม่ การแสดงผลเลย์เอาต์แบบ Responsive แสดงได้อย่างราบรื่นสมบูรณ์ในทุกหน้าหรือไม่? รวมไปถึงฟังก์ชั่นการใช้งานเช่นตรวจเช็คการติดตั้ง Plug-in การอัปเดตข้อมูล การรับส่งข้อมูล การติดตั้ง Third-party ต่าง ๆ เช่น Google Analytics, Facebook Pixel, TikTok Pixel (ถ้ามีการพูดถึงขอบเขตการติดตั้ง) หรือไม่ รวมถึงกุญแจรับรองความปลอดภัย (Secure Socket Layer หรือ SSL) รวมถึง Consent Management System ที่รองรับ PDPA อย่างถูกต้อง
คุณสามารถเรียกดูตัวอย่างการทำงานจากโครงการอื่น ๆ ก่อนตัดสินใจเริ่มงานกับผู้ให้บริการนั้น ๆ เพื่อความแน่ใจว่าผู้ให้บริการจะส่งมอบงานที่มีคุณภาพให้กับคุณได้ในที่สุด
เว็บไซต์ที่แก้ไขได้ทั้งหมด ไม่ใช่เว็บไซต์ที่ดีที่สุดเสมอไป อย่าติดกับดักของความคุ้มค่า
ในความเป็นจริง เว็บไซต์สามารถออกแบบและพัฒนาให้แก้ไขได้ทุกส่วนได้จริง แต่การแก้ไขเว็บไซต์ได้ทั้งหมดด้วยตัวเองอาจจะไม่ใช่คำตอบในด้านธุรกิจ อาจจะรู้สึกว่าคุ้มค่าแต่ความเป็นจริงจะยุ่งยากกว่าที่คิดในที่สุด เพราะคุณไม่อาจแก้ไขเว็บไซต์ทั้งหมดได้ด้วยตัวเอง เว้นแต่การสร้างเนื้อหาที่มีลักษณะเป็น Collection เช่น ข่าวสาร โปรโมชั่น
ในขณะที่ส่วนอื่น ๆ ของเว็บไซต์คุณแทบจะไม่ได้ optimise ให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายอยู่ตลอดเวลา เว้นแต่คุณมีทีมงานที่คอยเพิ่มประสิทธิภาพด้านการตลาดในทุกช่องทาง คุณอาจจะใช้ฟังก์ชั่นการเพิ่มสินค้า และการอัปเดตข่าวสาร เพื่อให้เว็บไซต์มี Digital Footprint ที่ดี เหมาะกับการค้นหาผ่าน Search Engine หรือ SEO
การมี Partner ที่ดีจะช่วยให้คุณหมดห่วงเรื่องเว็บไซต์ นอกจากจะช่วยให้คำปรึกษาในด้านการดูแลเว็บไซต์ พาร์ทเนอร์อาจจะช่วยต่อยอดเว็บไซต์ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
เว็บไซต์ยังมีข้อดีที่มักถูกมองข้าม โดยเฉพาะในยุคที่ AI เริ่มกลายเป็นปัจจัยในการค้นพบแบรนด์ใหม่ ๆ เว็บไซต์ที่มีระบบดี โครงสร้างชัดเจน และเนื้อหาที่สอดคล้องกัน — ไม่เพียงแต่สร้างความน่าเชื่อถือ แต่ยังช่วยให้แบรนด์เติบโตในโลกที่ไม่ได้พึ่งพาอัลกอริทึมเพียงอย่างเดียว