“ปุ่มยกเลิกภาษาอังกฤษนี่ใช้ CANCEL หรือ DISCARD?”
เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป จำนวนผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด จากนักวิจัยและวิศวกรกลุ่มเล็ก ๆ มาเป็นบุคคลทั่วไปกว่าห้าพันล้านคนในปี 2023 คอมพิวเตอร์กลายเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตของทุกคน เราได้เข้าสู่ยุคแห่งการออกแบบประสบการณ์ของผู้ใช้งาน (user experience) ให้คล่องตัวและเป็นธรรมชาติอย่างเต็มตัว คำถามที่เกี่ยวข้องกับข้อความบนปุ่มหรือไมโครก๊อบปี้ (microcopy) อย่างคำว่า cancel และ discard ที่ดูผ่าน ๆ ก็น่าจะมีความหมายว่า “ยกเลิก” เหมือนกัน กลับกลายมาเป็นคำถามที่ดึงดูดความสนใจของนักออกแบบทุกคน
ความหมายที่แท้จริงของสองคำนี้ คือ อะไร?
การใช้งานแตกต่างกันขนาดไหน?
เราจะนำมาใช้ในสินค้าดิจิทัลได้อย่างไร?
“พจนานุกรมเขียนไว้ยังไงนะ?”
หากดูความหมายของคำสองคำนี้อย่างละเดียด จะพบว่า discard กับ cancel นั้นมีความแตกต่างกันอยู่ที่เป้าหมายของการยกเลิก cancel นั้นพุ่งเป้าไปที่อนาคต เป็นการยกเลิกเหตุการณ์หรือการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้น ด้วยเหตุผลใด ๆ ก็ตาม ส่วน discard เป็นการทิ้งแบบตั้งเป้าไปที่สิ่งของที่มีอยู่แล้ว และเคยมีประโยชน์หรือความสำคัญ
หมายความว่า cancel ยกเลิกการกระทำที่ต้องการในอนาคต ในขณะที่ discard ยกเลิกหรือทิ้งสิ่งของที่มีอยู่แล้วในปัจจุบัน แต่มนุษย์สามารถใช้งานคำศัพท์ในวิธีที่ต่างออกไปจากความหมายได้เสมอ เราจึงสงสัยต่อว่า ทั้งสองคำนี้มีการใช้งานที่ต่างกันอย่างไร
“ตรงนี้เป็น cancel แต่ตรงนั้นเป็น discard ใช่ไหม?”
หลังจากที่รู้ความหมายของแล้ว สิ่งที่ตามมา คือ การใช้งาน ถึงแม้ว่า เราจะรู้ความหมายของยกเลิกทั้งสองแบบแล้ว แต่ถ้าเราไม่ได้นำมาใช้ประโยคหรือในชีวิตจริง เราก็จะไม่สามารถเข้าใจธรรมชาติของทั้งสองคำได้ทั้งหมด พวกเราเลยลองสมมุติสถานการณ์ขึ้นมาเพื่อทดสอบทั้งสองคำ
เรากำลังเดินไปซื้อตั๋วรถไฟ แต่เรากลับเห็นแถวที่ยาวเหยียด สุดท้าย เราเปลี่ยนใจไม่ซื้อตั๋วรถไฟและเรียกรถแท็กซี่ ในสถานการณ์นี้ เราเปลี่ยนใจไปใช้แท็กซี่ แต่เรายังไม่ได้ซื้อตั๋วรถไฟ จึงเป็นการยกเลิกการกระทำที่ยังไม่เกิดขึ้น ซึ่งตรงกับคำว่า cancel
เราซื้อตั๋วรถไฟเรียบร้อยแล้ว แต่เราเปลี่ยนใจเดินทางด้วยวิธีอื่น สุดท้าย เราทิ้งตั๋วรถไฟในมือและเรียกรถแท็กซี่ ในสถานการณ์นี้ เราเปลี่ยนใจไปใช้แท็กซี่ และตัดสินใจทิ้งตั๋วรถไฟที่ซื้อไว้แล้ว จึงเป็นการทิ้งสิ่งของที่หมดความสำคัญสำหรับเรา
ถึงแม้ว่า สุดท้ายแล้วผลของการกระทำจะออกมาเหมือนกัน คือ เราเปลี่ยนจากการเดินทางโดยรถไฟเพื่อไปใช้รถแท็กซี่ แต่รายละเอียดนั้นต่างกันอย่างเห็นได้ชัด ในการ cancel เราไม่เสียอะไรเพื่อเปลี่ยนผลลัพธ์ ในขณะที่การ discard นั้น เราจะต้องเสียอะไรไปสักอย่างเพื่อแลกกับผลลัพธ์ใหม่ที่เราต้องการ ในชีวิตจริงเราไม่จำเป็นต้องคิดคำว่า cancel หรือพูดคำว่า discard ก่อนที่เราจะกระทำกริยานั้นออกมา แสดงว่า การทิ้งตั๋วรถไฟก็ไม่เหมือนกับการทิ้งสินค้าดิจิทัลสักทีเดียว แล้วเราจะนำแนวคิดนี้มาปรับใช้ได้อย่างไร
“ใส่ตรงนี้แล้วเข้าใจตรงกันใช่ไหม?”
ปุ่มต่าง ๆ ที่อยู่บนเว็บไซต์หรือแอปพลิเคชัน เป็นตัวเชื่อมระหว่างผู้ใช้และระบบ การกระทำใด ๆ ที่ผู้ใช้ต้องการให้เกิดขึ้น ทั้งการโพสต์บทความ การยอมรับข้อตกลง หรือกระทั้งการยกเลิก ล้วนเกิดขึ้นหลังจากการกดปุ่มทั้งสิ้น ปุ่มเหล่านี้จึงเป็นเหมือนกับตัวแทนของคำกริยา
จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่มี เราได้ข้อสรุปว่า…
เป็นปุ่มยกเลิกที่อยู่ในหน้าต่างที่เราต้องการให้ผู้ใช้รู้สึกว่า เขายกเลิกการกระทำนั้น ๆ เช่น ยกเลิกการแก้ไขข้อมูล ยกเลิกการเดินทาง และยกเลิกการเปลี่ยนรูปโพรไฟล์เป็นต้น
จะสังเกตได้ว่า การยกเลิกด้วยคำว่า cancel เป็นการปิดประตูคำกริยาหรือเหตุการณ์ที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต เช่น ยกเลิกการแก้ไขข้อมูล ผู้ใช้สามารถคิดได้ว่า การยกเลิกของเขาจะไม่ทำให้ข้อมูลเก่าหายไป เป็นเพียงแค่การป้องกันไม่ให้ข้อมูลใหม่เกิดขึ้นเท่านั้น
เป็นปุ่มยกเลิกที่อยู่ในหน้าต่างที่เราต้องการให้ผู้ใช้รู้สึกว่า เขายกเลิกผลลัพธ์ของการกระทำนั้น ๆ ที่เขาเคยต้องการให้เกิดขึ้น เช่น ยกเลิกโพสต์ข้อมูล ยกเลิกร่างบทความที่กำลังจะเซฟ และยกเลิกการแต่งรูปโพรไฟล์เป็นต้น
แสดงว่า การยกเลิกด้วยคำว่า discard เป็นการทิ้งสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว เช่น ยกเลิกรูปที่ปรับแต่งไปบ้างแล้วแต่ยังไม่สมบูรณ์ดี ผู้ใช้สามารถต้องระวังมากขึ้นเพราะว่า การยกเลิกของเขาจะทำให้ข้อมูลเก่าหายไปด้วย เป็นการทิ้งสิ่งที่หมดความสำคัญไปเพื่อเริ่มใหม่
“คำนี้ดีแล้ว เข้าใจง่าย”
เราเริ่มต้นจากความสงสัย จนค้นพบความหมายของคำว่า cancel และ discard จากนั้น เราสังเกตหลักฐาน จนเข้าใจความแตกต่าง สุดท้าย เราทดลองสมมติฐาน จนสามารถใช้ทั้งสองคำได้เหมาะสม